วิธีเลือกยางอย่างถูกต้อง และตัวอักษรบนแก้มยาง หมายถึงอะไร?
สำหรับในทุกวันนี้รถยนต์คือปัจจัยสำคัญอย่างมากสำหรับการเดินทาง โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในขณะนี้
ดังนั้นรถยนต์จึงถือได้ว่าเป็นยานพาหนะที่หลายๆ คนอยากมีไว้ใช้ส่วนตัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค จึงสมควรที่จะต้องดูแลอย่างดี และสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับรถยนต์อย่างมากก็คือ “ยางรถยนต์” เพราะยางรถยนต์เปรียบเสมือนรองเท้าคู่ใจของรถที่จะพาขับเคลื่อนไปในทุกเส้นทางที่ต้องการ
ซึ่งในวันนี้เราจะมาแนะนำการเลือกและการดูแลรักษายางรถยนต์ ชิ้นส่วนสำคัญสำหรับรถยนต์ เพราะยางนั้นจะมีหน้าที่รับน้ำหนักตัวรถ ลดแรงกระแทก การสั่นสะเทือนจากพื้นถนน ถ่ายทอดแรงขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์สู่พื้นถนน และทำให้ควบคุมทิศทางที่จะไปได้ง่ายยิ่งขึ้น
สำหรับส่วนประกอบสำคัญของยาง คือ เนื้อยางด้านนอกที่สัมผัสพื้นถนน ถัดมาคือส่วนเสริมความแข็งแรงของยางและโครงยาง ส่วนประกอบเหล่านี้จะทำให้ยางแข็งแรงและช่วยให้ยึดเกาะถนนได้ดี ซึ่งในวันนี้เรามีวิธีเลือกยางมาฝากกันกับ 5 วิธีเลือกยางอย่างถูกต้อง
1. เรามาทำความรู้จักกับดอกยางกันก่อน
ดอกยางเป็นส่วนประกอบแรก ที่จะเห็นก่อนเวลาเลือกยาง บางคนอาจจะเลือกยางจากความสวยของดอกยาง จนลืมนึกถึงเรื่องสำคัญหรือหน้าที่ของดอกยาง ซึ่งจริงๆ แล้วดอกยางทำหน้าที่ยึดเกาะพื้นถนนและรีดน้ำ ช่วยให้ควบคุมทิศทางได้ดีโดยไม่ลื่นไถล และยังช่วยกระจายน้ำหนัก รักษาสมดุลของรถยนต์ บางทียังช่วยเรื่องประหยัดน้ำมันอีกด้วย โดยทั่วไปแล้วดอกยางจะแบ่งออกเป็น 3 แบบ
ประเภทของดอกยาง แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ
- แบบสมมาตร (Non-Directional) ลักษณะดอกยางแบบนี้จะเหมือนกันทั้ง 2 ด้านทั้งซ้าย ขวา จะเน้นความนุ่มนวล ขับขี่สบาย สามารถสลับยางได้ทุกด้าน ดูแลรักษาง่าย และที่สำคัญ ประหยัดและคุ้มค่า
- แบบไม่สมมาตร (Asymmetrical) ลักษณะดอกยางจะแตกต่างกันทั้ง2ด้าน เพื่อใช้ในรถที่สมรรถนะสูง เข้าโค้งได้ดี และราคาค่อนข้างสูง
- แบบกำหนดทิศทางการหมุน (Directional) ลักษณะนี้จะเป็นแบบ ทิศทางที่ต้องใส่ต้องตามที่ยางกำหนด มีคุณสมบัติรีดน้ำได้ดีมากที่สุด เหมาะกับรถยนต์ที่ใช้ความเร็วสูง แต่ราคาแพง
ฉะนั้นการเลือกยางควรเลือกยางให้เหมาะหรือตรงกับการใช้งานของรถยนต์ อย่างรถยนต์ที่ใช้ประจำวัน ควรเลือกแบบสมมาตรเพราะจะได้ประสิทธิภาพที่ครอบคลุมการใช้งานและช่วยการประหยัดน้ำมัน และคุ้มค่าเรื่องราคา
2. ตัวเลข ตัวอักษรบนแก้มยางหมายถึงอะไร
อีกเรื่องที่ต้องรู้คือตัวเลขบนแก้มยาง บอกอะไรเราได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น 195/60 R15 กลุ่มเลขแบบนี้จะเห็นได้บนยางทุกเส้น จะแตกต่างกันบ้าง ตามขนาดและประเภทของยาง วิธีการอ่านก็คือ
- เลข 195 หมายถึง ขนาดของหน้ายาง ความกว้างของยางนั่นเอง จะมีหน่วยเป็นมิลลิเมตร เช่นในที่นี้ก็คือ ยางเส้นนี้มีขนาดความกว้างอยู่ที่ 195 มม.
- เลข 60 คือ เป็นเลขจำนวนเปอร์เซ็นต์ ส่วนที่จะบอกความสูงของแก้มยาง ต่อความกว้างของหน้ายาง วิธีคำนวณก็คือ 195 x (60/100) = 117 มม. ความสูงจริงของยางเส้นนี้คือ 117 มม. นั่นเอง
- R15 หมายถึง ตัว R คือยางเป็นประเภทเรเดียล และ15 คือขนาดของยางที่จะใช้กับวงล้อขนาด 15 นิ้ว
- เลข 88 คือ รหัสบอกน้ำหนักที่ยางเส้นนี้สามารถรับน้ำหนักได้ ตัวเลข 88 นี้จะแทนการรับน้ำหนัก 560 กก.
- อักษร H คือ ตัวบอกความเร็วสูงสุดที่ยางสามารถวิ่งได้โดยไม่เกิดอันตราย ในที่นี่ตัว H จะแทนความเร็วสูงสุดที่ 210 กม./ชม.
นอกจากตัวเลขชุดนี้แล้วยังมีกลุ่มตัวเลขอีกชุดที่ควรรู้ เพราะจะบอกถึงช่วงเวลาที่ผลิต เพราะเวลาเลือกจะได้รู้ว่าเป็นยางที่ผลิตเมื่อไหร่ ไม่เก่าเกินไปที่จะนำมาใช้งาน ตัวอย่างเช่น 1017 วิธีการอ่านก็จะอ่านกันเป็นคู่ๆ โดย เลขคู่หน้าหมายถึง สัปดาห์ที่ผลิต โดยนับจากจำนวนสัปดาห์ทั้งปี 52 สัปดาห์ เลขคู่หลังหมายถึงปี ค.ศ. เลข 17 คือ ปี 2017 ถ้าอ่านคู่กันก็คือสัปดาห์ที่ 10 ปี 2017 จะได้ประมาณเดือนมีนาคม ปี 2017 นั่นเอง
3. เลือกให้ถูกได้ทั้งสมรรถนะและความประหยัด
ปกติผู้ผลิตรถยนต์จะเลือกขนาดยางที่เหมาะสมกับตัวรถยนต์ที่จำหน่ายอยู่แล้ว โดยจะเน้นไปตามจุดเด่น หรือจุดขายของรถยนต์คันนั้นๆ แต่ในปัจจุบันหลายๆ ค่ายก็มุ่งเน้นกันที่ความประหยัด ซึ่งยางก็เช่นเดียวกัน ด้วยปัจจัยด้านการเงินเป็นเรื่องสำคัญ การเลือกยางเพื่อความคุ้มค่าและความประหยัดเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน แล้วยิ่งมาพร้อมกับ สมรรถนะที่ดีมันจึงยิ่งทำให้คุ้มค่ามากขึ้นด้วย อย่างเช่นควรเลือกยางที่มีเทคโนโลยี ลดการต้านทานการหมุนที่ดี ใช้ส่วนผสมเนื้อยางด้วยวัสถุดิบที่เหมาะสม จะช่วยให้ยางมีสมรรถนะที่ดี และช่วยประหยัดน้ำมันด้วย ส่วนการออกแบบดอกยาง ร่องยาง จะมีผลเรื่องการยึดเกาะถนนและอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น ก่อนการเลือกซื้อยางจึงต้องศึกษาข้อมูลของผู้ผลิตให้ดี จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเลือกยางมากขึ้น
4. เมื่อไหร่ที่ควรจะเปลี่ยนยาง
ยางส่วนใหญ่ มีอายุการใช้งาน 3-5 ปี แต่ช่วงเวลาที่เหมาะกับการเปลี่ยนยางก็คือ เป็นไปตามสภาพของยาง และดอกยางในปัจจุบัน เพราะทุกวันที่มีการใช้งาน ยางจะต้องเจอกับพื้นถนนที่แตกต่างกันหลายแบบ อาจจะมีตะปู ของแหลมคม หลุมบ่อ การกระแทกที่รุนแรง อาจจะทำให้ยางเกิดรอยแผล บวม แตกลายงา โครงสร้างยางเสียหาย ดอกยางสึกหรอ ความลึกร่องยางเหลือ ไม่ถึง 1.5 มม. หรือจอดเฉยๆ ไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน ทำให้ยางเสื่อมแข็ง อาการแบบนี้ควรจะรีบเปลี่ยนยางทันทีเพื่อความปลอดภัย ดังนั้นจึงควรตรวจเช็คสภาพยางที่ใช้อยู่ว่าสมควรเปลี่ยนได้หรือยัง และควรสลับยางทุกๆ 10,000 – 15,000 กม. ของการใช้งาน
5. เปลี่ยนยางใหม่แล้ว ควรดูแลรักษาอย่างไร
กรณีที่เป็นยางใหม่ ให้เพิ่มความถี่ในการตรวจเช็คลมยางให้มากกว่าปกติ หรือในช่วง 3,000 กิโลเมตรแรก เนื่องจากโครงสร้างยางในช่วงนี้จะมีการขยายตัว ทำให้ความดันลมยางลดลง และเพื่อป้องกันการที่ลมรั่วซึมที่วาล์วและแกนวาล์ว ทุกครั้งที่เปลี่ยนยางใหม่และมีฝาปิดวาล์วตลอดเวลา
ทั้งนี้ควรมีการสลับตำแหน่งยาง เพื่อช่วยให้มีการสึกหรออย่างสม่ำเสมอเท่าๆ กัน โดยยางเรเดียลจะสลับทุกๆ ระยะทาง 10,000 กิโลเมตร และยางผ้าใบจะประมาณ 5,000 กิโลเมตร และควรบำรุงรักษาระบบช่วงล่างของรถยนต์ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ และตรวจสอบศูนย์ล้อให้ได้มาตรฐานของรถยนต์ โดยวิธีตรวจสอบศูนย์ล้อด้วยตัวเอง ว่าเป็นปกติหรือไม่ สังเกตง่ายๆ เวลาเลี้ยว 90 องศา ให้ดูการคืนพวงมาลัยเป็นปกติหรือไม่ ถ้าต้องดึงพวงมาลัยช่วยคืน แสดงว่าศูนย์ล้อเริ่มไม่ปกติ จึงควรนำกลับไปตั้งศูนย์ถ่วงล้อใหม่ที่ศูนย์บริการ