Honda CBR1000RR ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ จะมาพร้อมกับโช้กอัพหน้าไฟฟ้าและโปร์อาร์ม

หลังจากที่ทางค่ายปีกนก Honda ได้มีการเปิดตัวรถซุปเปอร์สปอร์ตอย่าง CBR1000RR เวอร์ชั่นล่าสุดกันไปในช่วงปี 2017 ที่ผ่านมา ก็ได้รับกระแสตอบรับจากเหล่าไบค์เกอร์สายเรซซิ่งกันเป็นอย่างดี

ล่าสุดก็ได้มีข่าวมาจากทางฝั่งญี่ปุ่นว่าในปี 2019 ที่จะมาถึงนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบไมเนอร์เชนจ์ แต่ไม่ใช่เป็นแค่เพียงการเปลี่ยนแปลงสีสันเท่านั้น มันยังมีการเพิ่มเติมอุปกรณ์ฟีเจอร์ที่เด็ดๆ อีกหลายจุดด้วยกัน

แน่นอนว่าโดยพื้นฐานของเครื่องยนต์และโครงสร้างหลักนั้นจะยังคงยึดตามแบบฉบับของเดิม แต่ในเรื่องของงานออกแบบในบางจุดจะมีความแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะในเรื่องของหน้ากากและไฟหน้าอย่างที่เราเห็นจากภาพ render ของทาง Young Machine ภาพนี้จะมีรูปร่างที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ดูมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญที่จะได้รับการเปลี่ยนแปลงนั่นก็คือระบบกันสะเทือนหรือโช้กอัพด้านหน้าแบบหัวกลับ ที่จะมาเป็นแบบไฟฟ้ากันแล้ว แน่นอนว่ามันเป็นการแก้เกมคู่แข่งอย่าง Kawasaki Ninja ZX-10R ที่ใช้ระบบกันสะเทือนหน้าแบบไฟฟ้าเช่นเดียวกัน


โดนตัวโช้กอัพหน้าแบบไฟฟ้านั้นจะมีหลักการทำงานควบคุมโดยกล่อง ECU ที่จะประมวลผลรูปแบบของผู้ขับขี่และทำการปรับค่าความหนืดของตัวโช้คอัพหน้า โดยจะทำการเก็บค่าและประมวลผล ซึ่งจะคำนวณจากอัตราการกดเบรก การใช้ความเร็ว ความบ่อยครั้งในการกระแทกคันเร่ง รวมไปการเอียงของแกน IMU ในขณะขับขี่ ซึ่งระบบนั้นจะปรับระยะยุบตัวของโช้คอัพหน้าและหลัง ให้สอดคล้องกับรูปแบบของผู้ขับขี่โดยอัตโนมัติ ในขณะที่ระบบกันสะเทือนหลังนั้นจะเป็นแบบโมโนโช้กทำงานร่วมกับสวิงอาร์มเดี่ยว หรือที่เราเรียกกันว่าโปรอาร์ม ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมันมาอยู่ในรถแข่งสนามแบบนี้ มันจะมีผลอย่างมากในการเปลี่ยนยางระหว่างแข่งขัน ซึ่งจะทำเวลาในการเปลี่ยนยางได้รวดเร็วขึ้นกว่าสวิงอาร์มแบบคู่อย่างแน่นอน

สำหรับสเปคพื้นฐานเดิมของ CBR1000RR นั้นจะมาพร้อมกับเครื่องยนต์ขนาด 998 cc แบบ DOHC 4 สูบเรียง 4 จังหวะ 16วาล์ว ระบายความร้อนด้วยน้ำ ขนาดกระบอกสูบ X ช่วงชัก อยู่ที่ 76.0 mm x 55.0 mm อัตราส่วนกำลังอัดอยู่ที่ 13:1 จุดระเบิดด้วยระบบไฟฟ้า ระบบจ่ายน้ำมันแบบ PGM-FI ส่งกำลังด้วยระบบเกียร์หกสปีด และส่งกำลังสุดท้ายด้วยโซ่ แรงม้าสูงสุดที่ 195 BHP ทำแรงบิดสูงสุดได้ที่ 116 นิวตันเมตรที่ 11,000 รอบต่อนาที มีโหมดให้เลือกใช้งาน 3 โหมดเหมือนกันคือ Track Sport และ Comfort หน้าจอแสงผลแบบ TFT ที่ถอดแบบมาจาก Honda RCV213V-S ที่ใช้ในการแข่งขัน MotoGP ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ Bosch ที่ใช้ชื่อว่า IMU หรือ inertial measurement unit ซึ่งจะทำงานเป็นสมองกลที่สั่งงานระบบต่างๆในรถให้ทำงานสอดคล้องกัน จะเป็นการทำงานร่วมกันกับระบบ HTSC หรือ Honda Selectable Torque System ที่ใช้ในรถแข่ง MotoGP ของทีม Honda เช่นกัน ระบบเบรคจาก Brembo ที่ถูกปรับเปลี่ยนจากรุ่นปกติ วงล้อแบบฟอร์จจาก Marchesini M7ที่มีน้ำหนักเบาและเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านทานในล้อหน้า 18% และล้อหลัง 9% ระบบไฟ LED รอบคัน

ถังน้ำมันไทเทเนียมที่ช่วยให้ตัวรถมีน้ำหนักที่เบาขึ้นและแข็งแรงกว่ารุ่นปกติ ออฟชั่นต่างๆที่อยู่ในตัวรถอย่าง Wheelie Control HSTC ระบบป้องกันการยกตัวของล้อ Traction Control ระบบป้องกันล้อหมุนหรือ Gyro Based ABS ระบบช่วยเหลือการทำงานของ ABS ขณะที่รถมีการเอียงตัว Engine Brake (EB) ระบบช่วยเหลือขณะใช้เอนจิ้นเบรกที่มีให้เลือกถึง 3 ระดับ Torque Adjust การปรับอัตราการเร่งของตัวรถได้ 9 ระดับ Quick Shifter Assist Up & Down Shift หรือระบบเปลี่ยนเกียร์ขึ้นหรือลงโดยไม่จำเป็นต้องกำคลัทซ์ Launch Control ระบบช่วยเหลือในการออกตัว Pit Lane ระบบจำกัดความเร็วของตัวรถ TBW & APS ระบบคันเร่งไฟฟ้าที่ทำงานร่วมกับชิพอัจฉริยะ APS ที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการใช้คันเร่งได้สูงสุด

คงต้องมารอดูกันว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะมีรูปร่างหน้าตาตามข่าวจริงหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้เป็นต้นไปก็จะมีข้อมูลหลุดออกมาเรื่อยๆ จากทางแหล่งข่าวต่างๆ เกี่ยวกับโมเดลนี้ โดยมันจะเป็นรถสปอร์ตเรพลิก้าที่ผลิตในญี่ปุ่น ก่อนจะส่งออกวางขายกันทั่วโลกในรูปแบบของโกบอลโมเดล รวมไปถึงประเทศไทยของเราเองด้วย

 

ที่มา : young-machine