หลักเกณฑ์ใหม่ ต่อใบขับขี่ ทำใบขับขี่ ทุกประเภทต้องใช้ใบรับรองแพทย์ เริ่มจริงต้นปี 2564

 

สรุปการทำใบขับขี่ และต่อใบขับขี่ ตามหลักเกณฑ์ที่มีการประกาศใหม่ ต่อใบขับขี่ทุกประเภท ทั้งใบขับขี่รถยนต์ ใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ รวมถึงการต่อใบขับขี่ 5 ปี เป็น 5 ปี ด้วย เริ่มจริงต้นปี 2564

ข่าวคราวที่ผู้ขับขี่รถทุกชนิดคงต้องให้ความสนใจกันในช่วงนี้ก็คือ กรมการขนส่งทางบกได้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการ ทำใบขับขี่ หรือ ต่อใบขับขี่ ซึ่งเพิ่มรายละเอียดในส่วนของเอกสารใบรับรองแพทย์ โดยมีประกาศกฎกระทรวง เรื่อง การขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ลงในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา

ตามหมายเหตุแนบท้ายประกาศระบุถึงเหตุผลการแก้ไขหลักเกณฑ์ครั้งนี้ว่า เพื่อให้เกิดความเหมาะสมหลังจากที่เงื่อนไขในการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2548

ทั้งนี้ ใจความสำคัญก็คือหลังจากประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ การดำเนินการเกี่ยวกับใบขับขี่ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการทำใบขับขี่ชั่วคราว หรือ ต่อใบขับขี่ จะต้องใช้ใบรับรองแพทย์เป็นเอกสารประกอบด้วย


ตามหลักเกณฑ์เดิม เอกสารใบรับแรงแพทย์จะต้องใช้ในกรณีขอใบขับขี่ชั่วคราว (ทำใบขับขี่ใหม่) และการต่อใบขับขี่ 2 ปี เป็น 5 ปี แต่หลักเกณฑ์ใหม่ได้กำหนดให้การต่อใบขับขี่ 5 ปี เป็น 5 ปี จะต้องใช้ใบรับรองแพทย์เป็นเอกสารประกอบด้วย ทั้งการต่อใบขับขี่รถยนต์ ใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ และใบขับขี่ทุกประเภท ตามาข้อความในประกาศข้อ 4 ซึ่งระบุว่า

ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล หรือใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ให้ยื่นคำขอตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมด้วยใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ใบอนุญาตขับรถยนต์ สามล้อส่วนบุคคลชั่วคราว หรือใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ที่ได้รับมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ หรือใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะแล้วแต่กรณี และเอกสารหรือหลักฐาน ดังต่อไปนี้

1. ในกรณีที่ผู้ขอเป็นผู้มีสัญชาติไทย

ก. บัตรประจำตัวประชาชน

ข. ใบรับรองแพทย์ตามข้อ 3 (1) (ข)

ค. หลักฐานการอบรมตามข้อ 3 (1) (ค)

2. ในกรณีที่ผู้ขอเป็นคนต่างด้าว

ก. ใบรับรองแพทย์ตามข้อ 3 (1) (ข)

ข. หลักฐานการอบรมตามข้อ 3 (1) (ค)

ค. เอกสารหรือหลักฐานตามข้อ 3 (2) (ก) และ (ข)

ตามประกาศกฎกระทรวงฉบับนี้ยังมีการระบุเพิ่มเติมถึงรายละเอียดใบรับรองแพทย์ในกรณีของการต่อใบขับขี่รถสาธารณะ ทั้งใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ ใบขับขี่รถยนต์สามล้อสาธารณะ และใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ตามความในข้อ 5 ว่า

ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ หรือใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ให้ยื่นคำขอตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมด้วยใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลชั่วคราว หรือใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ที่ได้รับมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล หรือใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี และเอกสารหรือหลักฐาน ดังต่อไปนี้

1. บัตรประจำตัวประชาชน

2. ใบรับรองแพทย์ซึ่งแสดงว่า

ก. ไม่มีโรคประจำตัวหรือไม่มีสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่า อาจเป็นอันตรายขณะขับรถตามที่แพทยสภากำหนด

ข. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน

ค. ไม่เป็นผู้ติดสุรายาเมาหรือยาเสพติดให้โทษ

ง. ไม่เป็นผู้เป็นโรคติดต่อ ดังต่อไปนี้

1. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการ

2. วัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ

ใบรับรองแพทย์ตามข้อ 2 มีอายุใช้ได้ตามที่แพทย์ผู้รับรองกำหนด เว้นแต่ในกรณีที่ใบรับรองแพทย์ไม่ได้กำหนดอายุไว้ ให้ใช้ได้ไม่เกินหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ออกใบรับรองแพทย์

สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับการทำใบขับขี่ และต่อใบขับขี่ จะมีผลหลังจาก 120 วันนับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก็คือตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ที่จะทำใบขับขี่ในแต่ละประเภทก็ต้องเตรียมตัวทำความเข้าใจกันต่อไป