เลือกน้ำมันเครื่องที่ใช่..ไม่ใช่เรื่องยาก!

 

น้ำมันเครื่อง คงเป็นคำคุ้นเคยของเจ้าของรถ แต่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าน้ำมันเครื่องสำคัญอย่างไร ทำไมต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเป็นประจำ และน้ำมันเครื่องที่เหมาะสมส่งผลต่อเครื่องยนต์อย่างไร

ถึงแม้ในคู่มือรถจะระบุประเภทน้ำมันเครื่องที่เหมาะสมไว้อยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตน้ำมันเครื่องต่างพัฒนาน้ำมันเครื่องหลายเกรดหลายชนิดออกมาเพื่อเพิ่มตัวเลือกให้ผู้บริโภคและตอบสนองการใช้งานที่หลากหลายยิ่งขึ้น จึงอาจทำให้เจ้าของรถสับสนว่าควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องประเภทใดที่เหมาะกับรถคู่ใจของตนเอง

น้ำมันเครื่อง หัวใจของเครื่องยนต์

น้ำมันเครื่อง คือ สารหล่อลื่นที่คั่นกลางระหว่างผิวของชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ ทำหน้าที่เป็นฟิล์มเคลือบชิ้นส่วนโลหะ ช่วยลดการเสียดสีและการสึกหรอของวัตถุโลหะ ขณะที่มีการเคลื่อนไหวของเครื่องยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาสตาร์ทรถ นอกจากนี้ น้ำมันเครื่องยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ช่วยระบายความร้อนให้ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ป้องกันการเกิดสนิม การกัดกร่อน คราบเขม่า และการสะสมสิ่งสกปรกและผงโลหะที่อาจทำให้เกิดการอุดตันภายในชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ไปจนถึงการป้องกันการเกิดปฏิกิริยาอ็อกซิเดชั่นซึ่งช่วยรักษาคุณภาพน้ำมัน ซึ่งหากน้ำมันเครื่องหนืดไปหรือหนืดน้อยไป น้ำมันเครื่องจะไม่สามารถไหลเวียนและให้การหล่อลื่นเครื่องยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและยังช่วยให้รถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนตัวช่วยสูบฉีดหัวใจของเครื่องยนต์ให้ทำงานได้เต็มที่

เกรดและประเภทของน้ำมันเครื่อง

เกรดหรือความหนืดของน้ำมันเครื่อง บ่งบอกถึงความข้นหรือแรงต้านต่อการไหลเทของน้ำมันเครื่อง โดยเราสามารถทราบความหนืดของน้ำมันเครื่องซึ่งเหมาะกับช่วงอุณหภูมิสภาพแวดล้อมได้จากการสังเกตชุดตัวเลข “XW-XX” โดยตัวเลขที่อยู่หน้า W ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Winter” คือค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องที่อุณหภูมิต่ำ ในขณะที่เลขข้างหลัง W คือค่าความหนืดของน้ำมันในอุณหภูมิสูง ค่าตัวเลขมากยิ่งมีความหนืดมาก และในทางกลับกัน ค่าตัวเลขน้อยแสดงว่าน้ำมันเครื่องนั้นมีความหนืดน้อย โดยน้ำมันเครื่องส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นน้ำมันเครื่องชนิดเกรดรวม เช่น 5W-30, 0W-20 หรือ 10W-30 ที่ช่วยให้เครื่องยนต์สามารถทำงานได้ดีทั้งในอุณหภูมิต่ำและสูง

ส่วนน้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยวเช่นเบอร์ 40 นั้น ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมใช้ เนื่องจากมีผลกระทบต่อการสตาร์ทรถในขณะเครื่องยนต์เย็น หรืออัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงที่มากกว่าและอัตราเร่งที่ด้อยลง จึงขอแนะนำให้ใช้ในกรณีที่ผู้ผลิตรถยนต์รุ่นนั้นๆกำหนดไว้เป็นมาตรฐานเท่านั้น

ประเภทของน้ำมันเครื่อง มี 3 ประเภทหลัก ได้แก่

  • น้ำมันแร่ (Mineral oil) คือน้ำมันเครื่องที่ผลิตจากการกลั่นน้ำมันดิบ ซึ่งมักมีราคาต่ำกว่าน้ำมันเครื่องประเภทอื่น

 

  • น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (Full synthetic oil) คือน้ำมันเครื่องที่ผลิตด้วยกรรมวิธีทางเคมีและกลั่นด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง จึงมักมีประสิทธิภาพและราคาที่สูงกว่าน้ำมันเครื่องประเภทอื่น

 

  • น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi-synthetic oil) คือน้ำมันเครื่องที่ผลิตจากน้ำมันแร่ผสมกับน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพให้สูงกว่าน้ำมันแร่ แต่ราคาไม่สูงเท่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์

 

เลือกน้ำมันเครื่องให้เหมาะสม

เนื่องจากในท้องตลาด มีผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องที่หลากหลาย อีกทั้งยังมีเกรดและประเภทของน้ำมันเครื่องอีกมากมาย เจ้าของรถจึงควรมีความรู้เบื้องต้นเพื่อเลือกใช้น้ำมันเครื่องให้เหมาะสมกับรถยนต์และการใช้งาน โดยวิธีง่ายที่สุดคือค้นหาจากคู่มือผู้ใช้รถซึ่งจะระบุเกรดของน้ำมันเครื่องและมาตรฐานที่เหมาะสมกับรถยนต์รุ่นนั้นๆ และเลือกน้ำมันเครื่องที่มีเกรดตรงตามที่กำหนด โดยดูได้จากฉลากข้างแกลลอนน้ำมันเครื่อง

· ความหนืดของน้ำมันเครื่อง แนะนำให้เลือกน้ำมันเครื่องที่มีความหนืดต่ำสุดที่ระบุไว้ในคู่มือผู้ใช้รถ ซึ่งจะช่วยให้รถยนต์สตาร์ทติดง่าย ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และอัตราเร่งดีเยี่ยมกว่าน้ำมันเครื่องที่มีความหนืดสูง

· เกรดมาตรฐานของน้ำมันเครื่อง ซึ่งจะมีหลายเกรดมาตรฐาน เช่น API, ACEA, ILSAC หรือมาตรฐานที่ผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อกำหนดขึ้นเพื่อให้เหมาะกับเครื่องยนต์รุ่นนั้น เช่น VW 508.00 หรือ Ford WSS-M2C913-D โดยให้เลือกตามมาตรฐานที่กำหนด

· ประเภทของน้ำมันเครื่อง สำหรับผู้ที่ต้องการน้ำมันเครื่องที่ให้การปกป้องเครื่องยนต์อย่างดีเยี่ยมเพื่อสมรรถนะของเครื่องยนต์สูงสุด ควรใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์คุณภาพสูงที่ออกแบบเพื่อให้มีการคงคุณสมบัติของน้ำมันที่ดีเยี่ยมตลอดการใช้งานกว่าน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์หรือน้ำมันแร่

ระยะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง

นอกจากจะเข้าใจถึงความสำคัญและรู้จักประเภทของน้ำมันเครื่องแล้ว การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเมื่อครบระยะหรือหมดอายุการใช้งานเป็นประจำก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะถือเป็นการรักษาความสะอาดเครื่องยนต์ โดยรถยนต์ส่วนใหญ่จะถูกกำหนดให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ 10,000 กม. หรือ 6 เดือนแล้วแต่กรณีใดจะถึงก่อน แม้ว่าจะใช้รถไม่ครบเลขกิโลเมตรที่กำหนด แต่ก็ควรนำรถเข้ารับการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและตรวจเช็คระยะอย่างน้อยทุกๆ 6 เดือน เนื่องจากในขณะที่รถติดเครื่องยนต์ก็ยังคงทำงานตลอดเวลา ซึ่งทำให้น้ำมันเสื่อมสภาพไปตามระยะเวลา ซึ่งหากใครที่อยากประหยัดเงินในกระเป๋าก็อาจทำการเปลี่ยนถ่ายเอง แต่ถ้าอยากสะดวกสบายหน่อยก็คงต้องพึ่งพาศูนย์บริการต่างๆ แต่อย่าลืมระลึกไว้เสมอว่า ชีวิตเราฝากไว้กับรถ ถ้ารถไม่พร้อม ชีวิตเราก็อาจตกอยู่ในอันตรายได้เช่นกัน