ตรวจสภาพรถยนต์ (ตรอ.) ต้องทำอย่างไร

 

เชื่อว่ากว่าจะมีรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์สักคัน สำหรับหลายๆ คนแล้วคงไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นเมื่อมีรถแล้วเราก็ควรที่จะหมั่นดูแลรักษาสภาพรถยนต์คันโปรดให้มีสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

และเมื่อถึงเวลาที่ต้องเอารถเข้าศูนย์ตรวจสภาพประจำปี บางคนอาจสงสัยว่าแล้วเราจะต้องทำอะไรกันบ้างล่ะ? ในวันนี้เลยได้นำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจสภาพรถมาให้ทุกท่านได้ทราบ เพื่อให้ท่านเจ้าของรถทั้งหลาย ได้ทำกันอย่างถูกต้อง ไม่ต้องคอยระแวงว่าจะโดนเรียกตรวจ หรือโดนจับเมื่อไหร่ สู้เอาค่าปรับนั้นไปตรวจสภาพดีกว่ามั๊ย!

ตรวจสภาพรถยนต์ ประจำปีคืออะไร?

การตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี หรือ ที่หลายๆคนคุ้นเคยกันในชื่อ ตรวจสภาพรถ ตรอ. นั้น เป็น การตรวจสภาพรถยนต์ก่อนเสียภาษีรถยนต์ นั่นเอง ซึ่งการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี เป็นไปตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ที่ระบุไว้ว่า “รถยนต์จะต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีลักษณะขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถอยู่ในสภาพที่ดี และการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีนั้น ยังรวมถึงการตรวจลดมลภาวะ (ควันดำ) ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่รถ ผู้โดยสาร ผู้ขับขี่รถคันอื่นๆ รวมถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบและคนเดินถนนคนอื่นๆ ด้วยนั่นเอง”

1. ประเภทของรถยนต์ที่ต้องตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี (ตรอ.) ก่อนเสียภาษีรถยนต์ มีอะไรบ้าง?

1.1 รถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกทุกประเภท โดยไม่จำกัดอายุการใช้งาน

1.2 รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ประเภทรถดังนี้

  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
  • รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปี ขึ้นไป

2. สถานที่นำรถเข้าตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีมีที่ไหนบ้าง?

2.1 รถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกทุกประเภท เจ้าของรถจะนำไปตรวจสภาพ ที่สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้

2.2 รถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ประเภทรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ ต้องตรวจสภาพกับสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น

ยกเว้น

– รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม จะตรวจสภาพที่ ตรอ. หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้

– รถของส่วนราชการ บุคคลในคณะผู้แทนทางการฑูต คณะผู้แทนทางกงสุล องค์การระหว่างประเทศ ฯลฯ จะตรวจสภาพที่ ตรอ. หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก ก็ได้

– รถที่มีการดัดแปลงสภาพ รถที่เปลี่ยนสี เปลี่ยนเครื่องยนต์ รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวรถ หรือเลขเครื่องยนต์ รถที่ขาดต่ออายุทะเบียนเกิน 1 ปี ฯลฯ (รายละเอียดตามข้อ 7) ให้นำรถไปตรวจสภาพ ณ หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก

3. ระยะเวลาที่ต้องนำรถไปตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี

การตรวจสภาพรถ เจ้าของสามารถนำรถไปตรวจสภาพล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนถึงวันสิ้นอายุภาษีประจำปี

4. ค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีมีอะไรบ้าง?

  • รถจักรยานยนต์ คันละ 60 บาท
  • รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท
  • รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท

ใน การไปติดต่อกับสถานตรวจสภาพรถให้เจ้าของรถนำรถและสมุดคู่มือทะเบียนรถไปแสดง หากผลการตรวจสภาพปรากฏว่า รถอยู่ในเกณฑ์ผ่านการตรวจสภาพ สถานตรวจสภาพรถจะออกใบรับรองการตรวจสภาพรถตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด รถอยู่ในเกณฑ์ไม่ผ่านการตรวจสภาพ สถานตรวจสภาพรถจะแจ้งข้อบกพร่องที่เป็นเหตุให้รถนั้นไม่ผ่านการตรวจสภาพให้ เจ้าของทราบ เพื่อจะได้นำรถไปแก้ไขข้อบกพร่องแล้วนำมาตรวจใหม่ หากแก้ไขแล้วนำไปตรวจสภาพที่สถานตรวจสภาพรถเอกชนแห่งเดิมภายใน 15 วัน จะเสียค่าตรวจใหม่ ในอัตราครึ่งหนึ่งของค่าบริการที่กำหนดไว้ แต่หากเกิน 15 วัน หรือไปตรวจที่สถานตรวจสภาพรถเอกชนแห่งอื่นจะเสียค่าบริการเต็มอัตรา

5. การนับอายุใช้งานของรถ

การนับอายุการใช้งานของรถ ให้นับอายุทางทะเบียนโดยนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ถึงวันสิ้นสุดอายุภาษีประจำปี (วันครบกำหนดเสียภาษีประจำปี)

6. เงื่อนไขเกี่ยวกับประเภท ชนิด (ยี่ห้อ) และขนาดรถที่สถานตรวจสภาพรถเอกชนจะให้บริการตรวจสภาพได้

สถานตรวจสถาพรถเอกชนแต่ละแห่งจะต้องตรวจสภาพรถตามชนิด (ยี่ห้อ) ประเภท และ ขนาดรถตามที่ยื่นขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลางไว้ เช่น ตรวจสภาพรถยนต์ ขนาดน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม ทุกยี่ห้อ หรือตรวจสภาพรถจักรยานยนต์ เฉพาะ ยี่ห้อหรือ ตรวจสภาพรถยนต์ขนาดน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม และเกิน 1,600 กิโลกรัม และรถจักรยานยนต์ ทุกยี่ห้อ เป็นต้น กรณีรับตรวจสภาพรถบางชนิด (ยี่ห้อ) ต้องแสดงป้ายที่เห็น ได้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนที่จะมาใช้บริการทราบด้วย กรณีสถานตรวจสภาพรถเอกชนแห่งใด ประสงค์จะตรวจสภาพรถในประเภท ชนิด(ยี่ห้อ) และขนาดต่างจากที่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง ให้ทำหนังสือขออนุญาตต่อนายทะเบียน กลางเพื่อพิจารณาเป็นราย ๆ ไปได้

7. รถที่ต้องนำไปให้นายทะเบียนตรวจสถาพที่หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก (สถานตรวจสภาพรถเอกชนไม่สามารถรับตรวจสภาพได้)

  • รถที่ดัดแปลงสภาพผิดไปจากที่ได้จดทะเบียนไว้
  • รถที่เปลี่ยนสีหรือเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไป จากรายการที่จดทะเบียนไว้ในสมุดคู่มือทะเบียนรถ (เช่น เปลี่ยนเครื่องยนต์ เปลี่ยนลักษณะรถ เปลี่ยน ชนิดน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น)
  • รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์ (เช่น ไม่ปรากฏตัวเลข ตัวเลขชำรุด หรือมีร่องรอยการแก้ไข ขูด ลบ หรือลบเลือน จนไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ เป็นต้น)
  • รถที่เจ้าของได้แจ้งการไม่ใช้ชั่วคราว หรือแจ้งการไม่ใช้รถตลอดไปไว้
  • รถเก่าที่มีเลขทะเบียนเป็นเลขทะเบียนรุ่นเก่า ( เช่น กท-00001, กทจ-0001 เป็นต้น) ซึ่งรถดังกล่าวต้องเปลี่ยนทะเบียนรถใหม่เมื่อมีการนำมาเสียภาษีประจำปี
  • รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับการถูกโจรกรรมแล้วได้คืน
  • รถที่ได้สิ้นอายุภาษีประจำปี (ขาดต่อทะเบียน) เกิน 1 ปี

 

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีถือเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ เพราะหากรถยนต์ของเราอยู่ในสภาพที่ดีพร้อมต่อการใช้งานมากแค่ไหน ย่อมหมายถึงความปลอดภัยที่เรามีมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

ที่มา : กรมการขนส่งทางบก